โซเชียลมีเดีย สภากาแฟแห่งใหม่ ของคนสูงวัยในยุค 4.0

ในยุค 4.0 อะไรๆ ก็ย้ายเข้าไปอยู่บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร, โรงภาพยนตร์, ร้านค้า ไม่เว้นแม้แต่ “สภากาแฟ” หรือแหล่งพบปะพูดคุยหรือของคนสูงวัย (สว.) ก็ยังพร้อมใจกันย้ายไปอยู่ตามสื่อโซเชียลต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก, ไลน์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าสื่อโซเชียลเป็นช่องทางการสื่อสารที่สะดวกสบายและมีประโยชน์มากมาย แต่ขณะเดียวกันก็อาจนำภัยร้ายมาถึงตัวคนสูงวัยได้เช่นกันหากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง
.
มาดูกันว่าสื่อโซเชียลในยุค 4.0 มีประโยชน์และโทษต่อ สว. อย่างไรบ้าง

ประโยชน์ของสื่อโซเชียลในคนสูงวัย

• เปิดโอกาสให้คนสูงวัยได้พูดคุยสื่อสารกับลูกหลาน รวมถึงกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน
• เป็นเครื่องมือในการติดตามข่าวสาร และการส่งต่อข้อมูลหรือเรื่องราวที่น่าสนใจ
• ช่วยในการฝึกฝนและพัฒนาสมองของคนสูงวัย
• เป็นช่องทางในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
• ช่วยคลายเหงาจากการที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านหลังเกษียณ

โทษของสื่อโซเชียลในคนสูงวัย

• เสียสุขภาพ

เนื่องจากคนสูงวัยส่วนใหญ่ใช้งานสื่อโซเชียลบนโทรศัพท์มือถือ การใช้เวลาอยู่หน้าจอเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในด้านต่างๆ เช่น เสียสายตา ปวดคอหลังไหล่ นิ้วล็อก ฯลฯ หากปล่อยไว้ก็อาจทำให้เกิดอาการเรื้อรัง

• ถูกหลอกลวง

คนสูงวัยส่วนใหญ่มักไม่รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพที่ใช้ประโยชน์จากสื่อโซเชียลในการเข้าถึงตัวคนสูงวัยโดยตรง เพื่อหลอกเอาเงิน ทรัพย์สิน ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลบัญชีธนาคาร และอื่นๆ ไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ผู้สูงอายุจึงควรศึกษาให้รู้และเข้าใจถึงขึ้นตอนในการใช้งานสื่อโซเชียล, การทำธุรกรรมออนไลน์ รวมถึงติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ไม่ถูกหลอกลวงโดยง่าย

• กลายเป็นเครือข่ายแพร่ข้อมูลเท็จ

สภากาแฟออนไลน์ของคนสูงวัยถือเป็นศูนย์รวมของข่าวลือหรือข้อมูลประเภท “คนวงในเขาเล่ามา” โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องการดูแลสุขภาพและการรักษาโรคที่ยังไม่มีการยืนยันว่าถูกต้อง แม้การแชร์ข้อมูลดังกล่าวเป็นการทำด้วยความหวังดี แต่บางครั้งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่นำไปปฏิบัติตาม ผู้สูงวัยจึงควรตรวจสอบข้อมูลให้แน่ใจก่อนนำไปเล่าต่อหรือแชร์ต่อ เพื่อความปลอดภัยของคนที่คุณห่วงใย

• มีปัญหาในการเข้าสังคมจริง
คนสูงวัยหลายคนใช้เวลาออนไลน์มากเกินไป จนทำให้บางครั้งอาจหลงลืมที่จะใช้เวลาร่วมกันกับผู้อื่น รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมร่วมกันแบบต่อหน้า ทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์ในโลกจริง บางรายอาจเกิดอาการน้อยใจหากเพื่อน ญาติพี่น้อง หรือลูกหลาน ไม่สนใจตอบข้อความ ตอบช้า หรืออ่านแล้วไม่ตอบ โดยอาจลืมไปว่าผู้อื่นอาจไม่ได้ออนไลน์ตลอดเวลาเหมือนคนสูงวัยที่มีเวลาว่างค่อนข้างมาก
ด้วยความห่วงใย ขอแนะนำให้คนสูงวัยทุกท่านใช้งานสื่อโซเชียลอย่างพอเหมาะพอควร และใช้อย่างมีวิจารณญาณ เพื่อจะได้รับประโยชน์จากโลกออนไลน์อย่างเต็มที่ โดยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงและมิจฉาชีพทั้งหลายนั่นเองครับ
.
ขอบคุณข้อมูลที่น่าสนใจจาก tonkit360

ติดตามสาระดีๆ สำหรับคนสูงวัยได้ที่

? เฟซบุ๊ก : www.facebook.com/sorworcoffee
? Line@ : https://line.me/ti/p/@honorherb

ใส่ความเห็น