เปปไทด์จากถั่วเหลือง คือ ส่วนย่อยของโมเลกุลโปรตีนที่ได้จากถั่วเหลือง จัดเป็นโปรตีนขนาดเล็ก ดูดซึมง่าย และมีประโยชน์อย่างมากทั้งต่อเด็กวัยเรียน คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคุณประโยชน์ในด้านการบำรุงสมองที่เราคงได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ ตามสื่อโฆษณาต่างๆ… แต่เปปไทด์จากถั่วเหลืองยังมีดีมากกว่านั้น อาทิ
1.กระตุ้นสมอง
ศาสตราจารย์ ดร.ยูทากะ โมโตฮาชิ แห่งมหาวิทยาลัยอาคิตะ ประเทศญี่ปุ่น ทำการศึกษาพบว่า การบริโภคเปปไทด์จากถั่วเหลืองปริมาณ 8 กรัม ทำให้สมองเกิดคลื่นอัลฟา 2 หรือคลื่นอัลฟ่าช่วงความถี่สูง (10-13 เฮิร์ตซ์) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คลื่นสมองดังกล่าวนี้ทำให้สมองอยู่ในภาวะ “ตื่นและมีสมาธิ” ซึ่งเป็นภาวะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเรียน การทำงาน การจดจำสิ่งต่างๆ รวมถึงการคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์อีกด้วย
2.ลดความดันโลหิต
เปปไทด์จากถั่วเหลืองมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง (Angiotensin-Converting Enzyme) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง มีการทดสอบในห้องทดลองพบว่าเมื่อให้เปปไทด์จากถั่วเหลืองแก่หนูขาวจะทำให้ค่าความดันโลหิตของหนูลดลง โดยเปปไทด์จากถั่วเหลืองออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับยากลุ่มที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง
3.ลดคอเลสเตอรอล
มีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า
• การรับประทานเปปไทด์จากถั่วเหลืองอย่างน้อย 20 กรัม และไอโซฟลาโวนอย่างน้อย 80 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 สัปดาห์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในชายวัยกลางคน
• เปปไทด์จากถั่วเหลืองช่วยลดปริมาณการไหลเวียนของไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลในผู้ที่มีปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดสูง
• เปปไทด์จากถั่วเหลืองสามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลแอลดีแอล ชนิดที่มีขนาด 25.5 nM ได้ถึง 12.3% และไปเพิ่มคอเลสเตอรอลแอลดีแอล ชนิดที่มีขนาด 26.0 nM ได้ 14.3% ซึ่งช่วยลดสภาวะของการเกิดหลอดเลือดอุดตันได้
4.ต้านอนุมูลอิสระ
มีการศึกษาพบว่าเปปไทด์ที่ได้จากถั่วเหลือง เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อปลา และไส้กรอกที่ผ่านกระบวนการหมักแบบธรรมชาติหรือตากแห้ง มีคุณสมบัติในการป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันจากสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคชราและโรคที่เกิดจากภาวะการเสื่อมสภาพของเซลล์
5.ต้านมะเร็ง
จากการศึกษาพบว่าเปปไทด์จากถั่วเหลืองสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยจะเข้าไปเพิ่มการทำงานของฮอร์โมนโซมาโทสเตทิน (Somatostatin) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ยังพบว่า “เปปไทด์ลูนาซิน” (Lunasin) ที่พบในถั่วเหลืองและข้าวบาร์เล่ย์ มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการก่อมะเร็งในเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เกิดจากสารก่อมะเร็งหรือยีนก่อมะเร็งจากไวรัส